อำนาจเจริญ
- Details
- Last Updated on Friday, 11 October 2013 14:09
ตราสัญลักษณ์ประจําจังหวัดอำนาจเจริญ
รูปที่ 1 ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
ตราประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ประกอบด้วย
1. พระมงคลมิ่งเมือง เป็นประธานของภาพ แสงฉัพพรรณรังสีเปล่งรัศมีโดยรอบพระเศียร
2. ซ้ายขวา มีต้นไม้อยู่ 2 ข้าง ถัดไปเป็นกลุ่มเมฆ
3. ด้านล่าง แถบป้ายบอกชื่อจังหวัดอำนาจเจริญ
พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้งในบริเวณ พุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมือง ประดับด้วยโมเสก
สีทองเหลืองอร่าม เป็นศรีสง่าของเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมือง รัศมีสว่างแผ่กระจายรอบพระเศียร หมายถึงพุทธานุภาพแห่งพระมงคลมิ่งเมือง ที่แผ่กระจายครอบคลุมทั่วจังหวัดอำนาจเจริญ ให้ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ ประสบแต่ความสุข และความเจริญรุ่งเรือง
จังหวัดอำนาจเจริญ ใช้อักษรย่อว่า "อจ"
คําขวัญประจำจังหวัด
"พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มนํ้างามลํ้าถํ้าศักดิ์สิทธิ์
เทพนิมิตรพระเหลา เกาะแก่งเขาแสนสวย เลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎรเลื่อมใสใฝ่ธรรม"
ต้นไม้และดอกไม้ประจําจังหวัด
ต้นไม้ประจำจังหวัดชื่อพรรณไม้ "ตะเคียนหิน" ชื่อทาง วิทยาศาสตร์ "Hopea ferrea"
![]() |
![]() |
![]() |
รูปที่ 2 ต้นตะเคียนหิน | รูปที่ 3 ต้นตะเคียนหิน | รูปที่ 4 ดอกจานเหลือง |
จังหวัดอำนาจเจริญ เคยมีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาถึงยุคปัจจุบัน ผ่านฐานะการเป็นบ้านเมืองมาหลายระดับ
จากชุมชนโบราณมาเป็นบ้านเมือง พื้นที่ของจังหวัดอยู่ในเขตแอ่งโคราช อาณาเขตด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำโขง
ทางด้านทิศใต้คลุมลำเซบก อยู่ใกล้กับลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน ทางทิศตะวันตกติดกับลำเซบาย อยู่ใกล้กับลุ่มแม่น้ำชี ลำน้ำทั้งหลายดังกล่าวเป็นเส้นทางสำคัญของการแพร่กระจาย
อารยธรรมจากรัฐอื่นๆ มาสู่แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร และสืบเนื่องมาถึงบริเวณที่เป็นพื้นที่ของจังหวัดในปัจจุบัน
จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ที่มีอยู่ในเขตจังหวัด เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา แหล่งโบราณคดีโนนเมือง บ้านกุดซวย ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน แหล่งโบราณคดีโนนยาง บ้านดอนเมย ตำบลดอนเมย อำเภอเมืองฯ และแหล่งโบราณคดีโนนงิ้ว บ่านชาด ตำบลเค็งใหญ่ อำเภอหัวตะพาน เป็นต้น ได้พบขวานสำริด เครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด ปรากฎว่ามีลักษณะคล้ายกับโบราณวัตถุที่พบในวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะของชุมชนโบราณ แสดงว่าเคยมีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งถิ่นฐานอยู่เมื่อ 3,000 - 10,000 ปี มาแล้ว โดยมีหลักฐานภาพเขียนสีบนหน้าผา เป็นข้อสันนิษฐาน กล่าวคือ ภาพเขียนสีบนหน้าผาของภูผาแต้ม ในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งอยู่ติดชายเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะร่วมสมัยกับภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลฯ
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ชาวอินเดียได้เดินทางด้วยเรือเพื่อมาค้าขายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทะเลมาทางเกาะชวา เข้าสู่ประเทศไทยสองสายคือ ทางหนึ่งเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา ผ่านเข้าเขตเมืองนครสวรรค์ ผ่านอาณาจักรศรีนาศะ สู่ภาคอีสานด้านที่ราบสูงโคราช แล้วกระจายสู่ลุ่มน้ำมูล - ชี อีกสายหนึ่งเข้ามาทางจังหวัดปราจีนบุรี ผ่านอำเภอกบินทรบุรี ข้ามช่องเขาเข้าสู่ภาคอีสาน ทางอำเภอปักธงชัย สู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง
การเข้ามาของชาวอินเดีย ในครั้งนั้นได้นำเอาวัฒนธรรมแบบทวารวดี ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และวัฒนธรรมเจนละ หรือขอม ก่อนเมืองพระนคร ที่สัมพันธ์กับคติความเชื่อแบบฮินดู และพราหมณ์เข้ามาเผยแพร่ในลุ่มน้ำมูล น้ำชี และน้ำโขง วัฒนธรรมดังกล่าวได้แพร่เข้าสู่เขตจังหวัดอำนาจเจริญทางแม่น้ำโขง แม่น้ำมูลตอนล่าง และแม่น้ำชีตอนล่าง แล้วกระจายไปตามลำเซบก และลำเซบาย ดังนั้นคนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนได้แก่ พวกข่า กวย และส่วย จึงเป็นกลุ่มชนแรก ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ที่รับเอาวัฒนธรรมแบบทวารวดี และเจนละ
อิทธิพลวัฒนธรรมทวารวดี มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา โบราณวัตถุที่พบในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ เช่น พระพุทธรูป และใบเสมาหินทราย สมัยทวารวดี ล้วนสร้างขึ้นมาตามคติทางพระพุทธศาสนา
นอกจากกลุ่มชนในสมัยทวารวดี จะเคยตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดอำนาจเจริญแล้ว กลุ่มชนในสมัยวัฒนธรรมเจนละ หรือขอม ก่อนเมืองพระนคร ก็เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 - 15
อิทธิพลของวัฒนธรรมทวารวดี และเจนละสิ้นสุดลง เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 จนถึง พ.ศ.2254 - 2263 จึงปรากฎหลักฐานกลุ่มชนไทย - ลาว อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีอยู่สามกลุ่มด้วยกันคือ มาจากกรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์ พร้อมกับพระครูโพนเสม็ด เมื่อประมาณปี พ.ศ.2233 ลงมาตามลำแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครจัมปาศักดิ์ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านทรายมูล และบ้านดอนหนองเมือง ต่อมากลายเป็นบ้านพระเหลา และเมืองพนานิคม หรืออำเภอพนา ในปัจจุบัน อีกกลุ่มอพยพหนีภัยสงครามของกลุ่มเจ้าพระวอ (พ.ศ.2313 - 2319) จากเมืองหนองบัวลำภู ผ่านมาทางบ้านสิงห์ท่า หรือเมืองยโสธร สู่นครจำปาศักดิ์ แล้วกลับมาบ้านดอนมดแดง ซึ่งปัจจุบันคือ จังหวัดอุบลฯ และอีกกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาเนื่องจากกบฎเจ้าอนุวงศ์ และการเกลี้ยกล่อมตามนโยบายให้คนพื้นเมืองปกครอง คนพื้นเมือง ตามแนวความคิดของ พระสุนทรราชวงศา (บุต) เจ้าเมืองยโสธร กลุ่มดังกล่าวได้แก่ ชาวลาว ชาวไทโย่ย ชาวไทแสก ชาวไทญอ และชาวผู้ไท ซึ่งอยู่ติดกับแดนญวน ซึ่งเรียกว่า หัวเมืองพวน ได้อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เข้ามาตั้งบ้านเรือนทั่วภาคอีสานของไทย
เมื่อ พุทธศักราช 2337 เจ้าพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 2 ได้มีใบบอก ลงไปกราบทูลพระกรุณา พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขอพระราชทานตั้งบ้านโคกก่ง กงพะเนียง (ปัจจุบันเป็นตำบลอยู่ในการปกครองของอำเภอชานุมาน) เป็นเมืองเขมราฐธานี พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งบ้านโคกก่งกงพะเนียง เป็นเมืองเขมราฐธานี ตามที่พระพรหมวรราชสิริยวงศา กราบทูล และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้อุปฮาดก่ำ บุตรชายคนโตของพระวอ จากเมืองอุบลราชธานี มาเป็นเจ้าเมืองเขมราฐ (ที่ตั้งอยู่เมืองบริเวณบ้านคำแห้ว เมืองเก่า อำเภอชานุมาน) ได้รับสถาปนาเป็นพระเทพวงศา (ก่ำ)
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2369 เกิดศึกระหว่างกรุงเทพฯ กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ยกทัพมายึดเมืองเขมราฐ ขอให้พระเทพวงศา (ก่ำ) เข้าเป็นพวกด้วย แต่พระเทพวงศาไม่ยอมจึงถูกประหารชีวิตพระเทพวงศา (ก่ำ) มีบุตรชาย 3 คน คือ พระเทพวงศา (บุญเฮ้า) คนที่ 3 ท้าวแดง มียศเป็นพระกำจนตุรงค์ ได้เป็นเจ้าเมืองวารินชำราบ พระเทพวงศา (บุญจันทร์) มีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวบุญสิงห์ และท้าวบุญชัย ต่อมา ท้าวบุญสิงห์ ได้เป็นเจ้าเมืองเขมราฐ มียศเป็นพระเทพวงศา (บุญสิงห์) มีบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวเสือ และท้าวพ่วย ซึ่งได้รับยศเป็น ท้าวจันทบุรมหรือจันทบรม
การตั้งเมืองอำนาจเจริญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านค้อใหญ่ ขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ เมื่อปี พ.ศ.2401 ให้ท้าวจันทบุรบ (เสือ) เป็น พระอมรอำนาจ เจ้าเมืองขึ้นกับเมืองเขมราฐธานี
พ.ศ.2410 เมืองอำนาจเจริญขอขึ้นกับเมืองอุบลฯ พระอมรอำนาจมีใบบอกมายังกรุงเทพฯ ขอให้เมืองอำนาจเจริญขึ้นกับเมืองอุบลฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ตามที่ขอ
พ.ศ 2429 - 2455 ได้ยกเลิกการปกครองแบบเก่า คือ ยกเลิกตำแหน่งอาญาสี่สืบสกุล ในการเป็นเจ้าเมืองนั้นเสีย จัดให้ข้าราชการจากราชสำนัก ในกรุงเทพฯมาปกครอง เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้ปกครอง จากเจ้าเมืองมาเป็นผู้ว่าการเมืองแทนและปรับปรุงการปกครองหัวเมืองมณฑลอีสาน จึงยุบเมืองเล็กเมืองน้อยรวมเป็นเมืองใหญ่ ยุบเมืองเป็นอำเภอ เช่น เมืองเขมราฐธานี เมืองยศ (ยโสธร) เมืองฟ้าหยาด (มหาชนะชัย) เมืองลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) เมืองขุหลุ(ตระการพืชผล) เมืองอำนาจเจริญ ไปขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อำเภออำนาจเจริญจึงได้แต่งตั้งนายอำเภอปกครอง
นายอำเภอคนแรก คือ รองอำมาตย์โทหลวงเอนกอำนาจ (เป้ย สุวรรณกูฏ)พุทธศักราช. 2455 - 2459 ต่อมาประมาณ พุทธศักราช2459 ย้ายจากที่เดิม (บ้านค้อ บ้านอำนาจ อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน) มาตั้ง ณ ตำบลบุ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน ตามคำแนะนำของพระยาสุนทรพิพิธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขามณฑลอีสาน ได้เดินทางมาตรวจราชการโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ มีความเห็นว่าหากย้ายอำเภอมาตั้งใหม่ที่บ้านบุ่ง ซึ่งเป็นชุมชนและชุมทางสี่แยก ระหว่างเมืองอุบล-มุกดาหาร และเมืองเขมราฐ-เมืองยศ (ยโสธร) โดยคาดว่าจะมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต โดยชื่อว่า อำเภอบุ่ง (เสนอแนะย้ายพร้อมกับอำเภอเดชอุดม ย้ายจากเมืองขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) มาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี) โดยยุบเมืองอำนาจเจริญเป็นตำบล ชื่อว่าตำบลอำนาจ ซึ่งชาวบ้านชอบเรียกว่า เมืองอำนาจน้อย อยู่ในเขตท้องที่อำเภอลืออำนาจในปัจจุบัน ต่อมาในปี พุทธศักราช 2482 จึงเปลี่ยนชื่อจากอำเภอบุ่ง เป็นอำเภออำนาจเจริญ ขึ้นการปกครองกับจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.2434 เมืองอำนาจเจริญขึ้นกับหัวเมืองลาวกาว เนื่องจากช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสได้ญวน และเขมรไว้ในครอบครอง อังกฤษได้พม่าไว้ในครอบครอง และได้จัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสม ทำให้ราษฎรไทยที่อยู่ตามชายแดนที่ติดกับญวน เขมร และพม่า เกิดความสับสนเพราะระเบียบการปกครองไม่เหมือนกัน ทางกรุงเทพฯ จึงได้จัดระเบียบการบริหารหัวเมืองให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยรวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก และฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกันเรียกว่า หัวเมืองลาวกาว โดยรวมหัวเมืองเอก เมืองจำปาศักดิ์ และหัวเมืองเอกเมืองอุบลฯ เข้าด้วยกัน
พ.ศ.2437 ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ รศ.116 ขึ้นโดยให้รวมกลุ่มจังหวัดชั้นนอกเข้าเป็นมณฑล แบ่งบริเวณมณฑลออกเป็นห้าส่วนคือ มณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
ในปี พ.ศ.2443 เกิดบฎผีบุญที่บ้านหนองทับม้า อำเภอเสนางคนิคม มีข่าวลือไปทั่วแดนอีสานว่า หินกรวด ที่อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จะกลับมากลายเป็นเงินเป็นทอง ทำให้มีคนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปที่อำเภอเสลภูมิ ชาวบ้านหนองทับม้า ก็เดินทางไปด้วย และในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ได้มีข่าวลือแพร่กระจายออกไปว่า ฟักทองน้ำเต้า จะกลับกลายเป็นช้าง เป็นม้า ควายเผือก ควายทุยจะกลับมาเกิดเป็นยักษ์กินคน ท้าวธรรมิกราชจะมาเกิดเป็นเจ้าโลก ผู้หญิงที่เป็นโสดให้รีบมีสามี มิฉะนั้นจะถูกยักษ์จับไปกิน บ้านเมืองจะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง ข่าวลือนี้ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวแตกตื่นไปทั่ว
ขณะนั้น ได้มีผู้อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ เดินทางมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชื่อ องค์มั่น และองค์เขียว แต่งตัวนุ่งขาวห่มขาวด้วยผ้าจีบต่างๆ กัน มีปลอกใบลานเป็นคาถาสวมศีรษะ ปรากฎตัวที่บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล ให้ชาวบ้านมารดน้ำมนต์ และให้ผู้วิเศษเสกคาถาอาคมให้ นอกจากนั้นยังมีข่าวอีกกระแสหนึ่งบอกว่า ผู้วิเศษเหล่านั้นได้เตรียมการ จะยกทหารจากเวียงจันทน์เข้ามาตีเมืองอุบลฯ
เมื่อข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ทราบข่าวจึงได้ขอกำลังจากหัวเมืองต่างๆ มาช่วยจนปราบได้ราบคาบ และจับผู้นำคนสำคัญคือ องค์มั่น กับองค์เขียว มาผูกมัดไว้บริเวณทุ่งศรีเมือง ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน คณะตุลาการจึงได้ตัดสินประหารชีวิต โดยตัดหัวเสียบประจานไว้ที่กลางทุ่งศรีเมือง
ส่วนทางเมืองเสนางคนิคมนั้น ก็ได้มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันคือ ได้มีพ่อใหญ่พิมสาร เดินทางมาจากบ้านด่านหนองสิบ อำเภอเลิงนกทา อ้างว่าเป็นผู้วิเศษ หลอกลวงให้ชาวบ้านโกนหัว ถ้าใครไม่ทำตามยักษ์จะจับเอาไปกิน และหากครัวเรือนใดมีควายเผือก ควายทุยให้เอาไปฆ่าทิ้งเสีย เมื่อทางราชการเมืองอุบลฯ ทราบข่าวจึงให้ทหารและเจ้าหน้าที่ ออกไปสืบข่าวได้ความว่า ผู้ที่หลอกลวงชาวบ้านให้โกนหัวคือ เฒ่าพิมสาร และพ่อใหญ่ทิม จึงจับตัวไปมัดไว้ที่นาหนองกลาง อีกสามวันต่อมาก็ถูกประหาร และนำหัวไปเสียบประจานไว้ ทางด้านตะวันออกของวัดโพธาราม
เมื่อประมาณปี พ.ศ.2508 - 2521 ในพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน อำเภอเขมราฐ อำเภอดอนตาล และอำเภอเลิงนกทา ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเป็นพื้นที่สีชมพู ศูนย์กลางขบวนการอยู่ภายในเขตภูสระดอกบัว มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ เพื่อต่อสู้กับทางราชการ หมู่บ้านที่มีการจัดตั้งกองกำลังมากที่สุดคือ บ้านโพนทอง บ้านโป่งหิน บ้านหนองโน บ้านสามโคก บ้านน้อยดอกหญ้า บ้านนาไร่ใหญ่ และบ้านนาสะอาด ทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอเสนางคนิคม กองกำลังติดอาวุธอาศัยอยู่ในป่าภูโพนทอง ภูสระดอกบัว ภารกิจหลักของกองกำลังติดอาวุธคือ การหามวลชนเพิ่ม การยึดพื้นที่เพื่อแสดงอำนาจ และขยายอาณาเขตการทำงาน โดยจัดกำลังเข้าปะทะกับกองกำลังของทางราชการด้วยอาวุธสงคราม
ความขัดแย้งและการต่อสู้ค่อยๆ ลดลง และยุติการต่อสู้ เมื่อปี พ.ศ.2522 เหตุผลที่ยุติคือ ทางราชการได้กระจายความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ทราบความต้องการและเข้าใจปัญหาของประชาชน ให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เคยต่อสู้กับทางราชการ โดยการจัดหาที่ทำกินให้ และลดเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งต่างๆ ลง นอกจากนั้นสัญญาที่พรรคคอมมิวนิส์เคยให้ไว้ แก่ประชาชนที่เข้าร่วมขบวนการว่า พรรคจะให้เงิน รถไถนา และรถแทรกเตอร์ ตลอดทั้งยศ ตำแหน่งต่างๆ เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้กลุ่มผู้หลงผิดไม่เชื่อถือ และกลับใจให้ความร่วมมือกับทางราชการ ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ พุทธศักราช 2536 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2536 ตรงกับวันพุธ แรม 3 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา ยกฐานะอำเภออำนาจเจริญ เป็นจังหวัดอำนาจเจริญ โดยให้แยกอำเภออำนาจเจริญ อำเภอชานุมาน อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอพนา อำเภอหัวตะพาน อำเภอเสนางคนิคม และกิ่งอำเภอลืออำนาจ (ปัจจุบันอำเภอลืออำนาจ) รวม 6 อำเภอ 1กิ่งอำเภอ โดยแยกออกจากการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี รวมกันขึ้นเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ
![]() |
![]() |
รูปที่ี 5 ที่ตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ | รูปที่ 6 อาณาเขตติดต่อของจังหวัดอำนาจเจริญ |
ที่ตั้งและขนาดพื้นที่
จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ประมาณ 568 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 3,161.248 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,975,780 ไร่ โดย อำเภอชานุมาน มีพื้นที่มากที่สุด คือ 641.92 ตารางกิโลเมตร และอำเภอลืออำนาจ มีพื้นที่ น้อยที่สุด 209.67 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
จังหวัดอำนาจเจริญ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือ | ติดต่อกับ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร |
ทิศใต้ | ติดต่อกับ อำเภอเขื่องใน และ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี |
ทิศตะวันออก | ติดต่อกับ อำเภอเขมราฐ อำเภอกุดข้าวปุ้น และอำเภอตระการพืชผลจังหวัดอุบลราชธานี และสาธารณรัฐประขาธิปไตยประชาชนลาว (สปปล.) |
ทิศตะวันตก |
ติดต่อกับ อำเภอป่าติ้ว และ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร |
ลักษณะภูมิประเทศ
โดยทั่วไปจังหวัดอำนาจเจริญ ทางตอนกลางค่อนลงไปทางใต้มีลักษณะเป็นที่ลุ่มหรือที่ราบลูกฟูกส่วนทางตนบนเป็นที่ลุ่มมีเนินเขาเตี้ยๆ ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย และดินลูกรังบางส่วน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 227 ฟุต (68 เมตร)แม่น้ำสภาพภูมิประเทศจังหวัดอำนาจเจริญมีแม่น้ำและลำน้ำสายสำคัญที่เป็นประดุจดั่งเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวอำนาจเจริญ 3 สายคือ
- แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นกำเนิดอยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลผ่านประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพเมียนมาร์(พม่า) และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไหลผ่านจังหวัดอำนาจเจริญในเขตอำเภอชานุมานเป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร
- ลำเซบก ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ไหลผ่านอำเภอพนา ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านปากเซ อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
- ลำเซบาย ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรไหลผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ ในเขตอำเภอเสนางคนิคม อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอหัวตะพาน ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ยาวประมาณ 200 กิโลเมตร
เทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาภูพานซึ่งทอดผ่านพื้นที่เขตอำเภอเสนางคนิคม และอำเภอชานุมานมีลักษณะเป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนักและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติสำคัญของจังหวัดอำนาจเจริญ เช่น ลานดอกไม้ ถ้ำพระ ดานรัง ดานเค็ง บนภูวัด ผาแอวขัน คอกช้าง-คอกม้า ดานมะเกลือ ซึ่งมีทัศนียภาพคล้ายผาเทิบมาก บนภูโพนทอง ถ้ำหินหัวนาค บนภูเกษตรและภูพนมดี เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
จังหวัดอำนาจเจริญ มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หรือแบบสะวันนาคือ จะมีความแตกต่างของฤดูฝนและฤดูแล้งอย่างชัดเจน มีช่วงกลางวันยาวในฤดูร้อนและมีอุณหภูมิสูงเกือบตลอดทั้งปี
- ฤดูฝน ระหว่าง เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว ระหว่าง เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม
- ฤดูร้อน ระหว่าง เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
อุณหภูมิ
จังหวัดอำนาจเจริญมีอุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาวแตกต่างกันมาก เช่นในปี 2538 มีอุณหภูมิสูงสุดเดือนเมษายน 36.43 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม 16.32 องศา
เซลเซียสปริมาณน้ำฝน ส่วนมากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะ วันตกเฉียงใต้ และพายุดีเปรสชั่นจากอ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 13.5มิลลิเมตร/ต่อวัน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 90-94
(แหล่งที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา 2550 )
การแบ่งเขตการปกครอง
หน่วยการปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 56 ตำบล 599 หมู่บ้าน 76,990 หลังคาเรือน (ข้อมูล ปี พ.ศ. 2544)
การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 56 ตำบล 653 หมู่บ้าน
![]() |
หัวหน้าส่วนราชการ
ผู้ว่าราชการจังหวัด | นายแก่นเพชร ช่วงรังษี |
รองผู้ว่าราชการจังหวัด |
นายนพวัชร สิงห์ศักดา นายปวิณ ชำนิประศาสน์ |
หัวหน้าสำนักงานจังหวัด | นายผดุง วงษ์ทองคำ |
หน่วยงานบริหารราชการ
ส่วนราชการสังกัดส่วนภูมิภาค 35 แห่ง
ส่วนราชการสังกัดส่วนกลาง 16 แห่ง
ส่วนราชการสังกัดส่วนท้องถิ่นทั้งหมด NA แห่ง
เทศบาลเมือง 1 แห่ง
เทศบาลตำบล 8 แห่ง
องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
องค์การบริหารส่วนตำบล 55 แห่ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
1. แบบสัดส่วน จำนวน 1 คน
- นาย สุทัศน์ เงินหมื่น
2. แบบแบ่งเขต จำนวน 2 คน
เขตที่ 1 |
นาย วิเชียร อุดมศักดิ์ นาย อภิวัฒน์ เงินหมื่น |
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถมีสมาชิกวุฒิสภา ได้จำนวน 1 คน คือ
- นาย บวรศักดิ์ คณาเสน
ประชากร
จังหวัดอำนาจเจริญ มีประชากรทั้งสิ้น 372,241 คน เป็นชาย 186,476 คน เป็นหญิง 185,765 คน (ข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2554 ) อำเภอเมืองอำนาจเจริญ มีประชากรมากที่สุดรองลงมาคือ อำเภอหัวตะพาน และอำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ อำเภอพนา
ศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคือศาสนาคริสต์และอิสลาม ตามลำดับ ในวิถีของชาวจังหวัดอำนาจเจริญยังมีความเชื่อตามระบบของศาสนาพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญพิธีเลี้ยงบ้าน สูตรบ้าน วางศิลาฤกษ์ เลี้ยงตาแฮก ความเชื่อและศรัทธาตาม ฮีตสิบสอง คองสิบสี่นอกจากนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องผีสางเทวดาอยู่บ้าง
ผลิตภัณฑ์จังหวัด อนุกรมใหม่ ตามราคาประจำปี จำแนกตามสาขาการผลิต จังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ.2538 - 2553
GROSS REGIONAL PRODUCT NEW SERIES AT CURRENT MARKET PRICES BY INDUSTRIAL ORIGIN, AMNAT CHAROEN PROVINCE: 1995-2010
สาขาการผลิต | 2538 | 2539 | 2540 | 2541 | 2542 | 2543 | 2544 | 2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 | 2552 | 2553p |
-1995 | -1996 | -1997 | -1998 | -1999 | -2000 | -2001 | -2002 | -2003 | -2004 | -2005 | -2006 | -2007 | -2008 | -2009 | (2010p) | |
ภาคเกษตร | 1,055 | 1,375 | 1,295 | 1,426 | 1,183 | 1,238 | 1,280 | 1,257 | 1,664 | 1,673 | 1,782 | 1,812 | 2,116 | 1,913 | 2,733 | 3,131 |
เกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ | 1,047 | 1,349 | 1,271 | 1,381 | 1,153 | 1,177 | 1,233 | 1,178 | 1,573 | 1,591 | 1,707 | 1,769 | 2,070 | 1,883 | 2,691 | 3,092 |
การประมง | 8 | 25 | 23 | 45 | 31 | 61 | 47 | 80 | 91 | 82 | 75 | 43 | 46 | 30 | 42 | 40 |
ภาคนอกเกษตร | 3,754 | 4,737 | 4,725 | 4,408 | 4,239 | 4,550 | 4,479 | 4,764 | 5,209 | 5,637 | 6,248 | 7,184 | 7,988 | 7,289 | 7,867 | 8,489 |
การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน | 4 | 4 | 3 | 2 | 3 | 3 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | 7 | 9 | 18 |
การผลิตอุตสาหกรรม | 264 | 498 | 306 | 445 | 383 | 370 | 360 | 362 | 427 | 335 | 328 | 397 | 481 | 662 | 666 | 832 |
การไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา | 78 | 74 | 82 | 105 | 91 | 100 | 98 | 102 | 107 | 118 | 119 | 132 | 131 | 127 | 166 | 173 |
การก่อสร้าง | 732 | 1,110 | 834 | 288 | 358 | 402 | 327 | 430 | 479 | 575 | 502 | 434 | 910 | 652 | 654 | 774 |
การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน | 500 | 683 | 696 | 712 | 641 | 689 | 696 | 674 | 719 | 696 | 722 | 772 | 860 | 777 | 950 | 995 |
โรงแรมและภัตตาคาร | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 7 | 9 | 9 | 8 | 8 | 8 | 7 | 7 | 10 | 9 | 11 |
การขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม | 147 | 86 | 127 | 134 | 144 | 151 | 164 | 186 | 188 | 219 | 238 | 240 | 245 | 262 | 267 | 265 |
ตัวกลางทางการเงิน | 209 | 239 | 229 | 214 | 161 | 160 | 175 | 211 | 247 | 297 | 488 | 775 | 829 | 570 | 580 | 673 |
บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่า และบริการทางธุรกิจ | 298 | 374 | 438 | 517 | 603 | 618 | 595 | 662 | 688 | 705 | 908 | 1,176 | 1,177 | 856 | 983 | 866 |
การบริหารราชการแผ่นดินและการป้องกันประเทศ รวมทั้งการประกันสังคมภาคบังคับ | 413 | 454 | 543 | 624 | 708 | 846 | 814 | 877 | 945 | 1,065 | 1,144 | 1,182 | 1,057 | 873 | 905 | 1,020 |
การศึกษา | 836 | 1,008 | 1,237 | 1,111 | 876 | 930 | 968 | 933 | 1,078 | 1,229 | 1,343 | 1,590 | 1,789 | 1,920 | 2,044 | 2,211 |
การบริการด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ | 206 | 134 | 150 | 170 | 183 | 184 | 168 | 209 | 200 | 233 | 268 | 297 | 329 | 379 | 423 | 463 |
การให้บริการชุมชน สังคม และบริการส่วนบุคคลอื่นๆ | 55 | 62 | 66 | 71 | 75 | 80 | 87 | 93 | 112 | 144 | 163 | 166 | 158 | 174 | 194 | 174 |
ลูกจ้างในครัวเรือนส่วนบุคคล | 10 | 11 | 12 | 13 | 12 | 12 | 14 | 14 | 12 | 11 | 14 | 15 | 12 | 21 | 17 | 14 |
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด | 4,809 | 6,112 | 6,020 | 5,833 | 5,423 | 5,788 | 5,759 | 6,022 | 6,873 | 7,310 | 8,030 | 8,996 | 10,103 | 9,202 | 10,600 | 11,620 |
มูลค่าผลิตภัณฑ์เฉลี่ยต่อคน (บาท) | 13,641 | 17,141 | 16,745 | 16,071 | 14,798 | 15,668 | 15,419 | 15,962 | 18,049 | 19,035 | 20,738 | 23,076 | 25,745 | 23,307 | 26,705 | 29,144 |
ประชากร (1,000 คน) | 353 | 357 | 359 | 363 | 366 | 369 | 373 | 377 | 381 | 384 | 387 | 390 | 392 | 395 | 397 | 399 |
จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำแนกตามสถานภาพแรงงาน และเพศ จังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ. 2545 - 2554
POPULATION 15 YEARS AND OVER BY LABOR FORCE STATUS AND SEX, AMNAT CHAROEN PROVINCE: 2002 - 2011
สถานภาพแรงงาน | 2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 | 2552 | 2554 |
-2002 | -2003 | -2004 | -2005 | -2006 | -2007 | -2008 | -2009 | -2011 | |
รวม | |||||||||
ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป | 260,125 | 263,197 | 266,136 | 328,247 | 406,489 | 430,637 | 376,012 | 305,777 | 313,685 |
ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน | 191,468 | 192,081 | 199,578 | 249,276 | 315,645 | 329,759 | 283,447 | 229,045 | 225,427 |
ผู้มีงานทำ | 174,755 | 183,018 | 188,255 | 239,713 | 306,538 | 320,046 | 279,608 | 224,046 | 222,930 |
ผู้ว่างงาน | 16,387 | 7,955 | 11,118 | 7,816 | 4,270 | 4,644 | 2,310 | 3,126 | 1,869 |
ผู้ที่รอฤดูกาล | 325 | 1,108 | 204 | 1,748 | 4,837 | 5,069 | 1,529 | 1,873 | 628 |
ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน | 68,657 | 71,116 | 66,559 | 78,971 | 90,844 | 100,878 | 92,566 | 76,732 | 88,258 |
ชาย | |||||||||
ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป | 130,424 | 132,017 | 133,510 | 165,288 | 205,307 | 217,239 | 188,282 | 151,736 | 155,681 |
ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน | 107,076 | 108,284 | 113,125 | 137,985 | 177,035 | 183,909 | 157,331 | 125,357 | 125,918 |
ผู้มีงานทำ | 100,463 | 104,191 | 107,737 | 133,897 | 174,349 | 179,248 | 155,411 | 122,815 | 124,286 |
ผู้ว่างงาน | 6,485 | 4,038 | 5,297 | 3,738 | 1,896 | 3,104 | 1,499 | 1,549 | 1,171 |
ผู้ที่รอฤดูกาล | 129 | 56 | 90 | 350 | 790 | 1,558 | 421 | 994 | 460 |
ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน | 23,347 | 23,733 | 20,386 | 27,304 | 28,272 | 33,330 | 30,952 | 26,379 | 29,763 |
หญิง | |||||||||
ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป | 129,701 | 131,180 | 132,626 | 162,959 | 201,183 | 213,398 | 187,730 | 154,041 | 158,004 |
ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน | 84,392 | 83,797 | 86,453 | 111,292 | 138,610 | 145,850 | 126,116 | 103,687 | 99,509 |
ผู้มีงานทำ | 74,293 | 78,827 | 80,518 | 105,816 | 132,189 | 140,799 | 124,198 | 101,231 | 98,643 |
ผู้ว่างงาน | 9,902 | 3,917 | 5,821 |
ประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่
ความสำคัญ
ชาวจังหวัดอำนาจเจริญมีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ผีสางเทวดาและธรรมชาติอย่างผสมกลมกลืน ประเพณีและวัฒนธรรมที่ปรากฏทางด้านจิตใจ วัตถุและพิธีกรรมยังเป็นไปตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป คือ "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" ซึ่งยึดถือปรากฏกันจนมาถึงปัจจุบัน
สาระสำคัญ
ฮีตสิบสองเป็นประเพณีที่ชาวอีสานประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล คำว่า "ฮีต" มีความหมายตรงกับคำว่า "รีต" อันหมายถึงจารีตประเพณี ดังนั้น "ฮีตสิบสอง" จึงหมายถึงประเพณีที่ชาวอีสานจะต้องประพฤติปฏิบัติในรอบปีทั้งสิบสองเดือน ถ้าใครฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิด เรียกว่า "ผิดฮีต"สังคมทั่วไปจะตั้งข้อรังเกียจ ฮีตสิบสองจึงเป็นข้อบัญญัติที่นักปราชญ์ชาวอีสานโบราณ ได้บัญญัติขึ้เพื่อให้คนในชุมชนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกัน ทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสพบปะกันเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีจรรยาทางสังคมอีสานทั่วไป จึงยึดมั่นในการปฏิบัติตามฮีตสิบสองอย่างเคร่งครัด ซึ่งส่วนมากจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยเริ่มงานบุญตั้งแต่เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) และมีต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ฮีตสิบสอง การทำบุญในรอบปีมี 12 เดือนคือ
- เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เป็นการทำบุญกับพระภิกษุที่ต้องอาบัติและเข้าปริวาสกรรม
- เดือนยี่ บุญคูณลาน เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่ลานนวดข้าว
- เดือนสาม บุญข้าวจี่ คือการจี่ข้าวถวายแด่พระภิกษุ
- เดือนสี่ บุญพระเหวด คือการทำบุญเทศน์มหาชาติ
- เดือนห้า บุญสงกรานต์ คืองานสงกรานต์
- เดือนหก บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีขอฝน
- เดือนเจ็ด บุญชำฮะ เป็นการล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรต่างๆ
- เดือนแปด บุญเข้าพรรษา คือการทำบุญเข้าพรรษา
- เดือนเก้า บุญข้าว ประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต
- เดือนสิบ บุญข้าวสาก เป็นการทำบุญถวายสลากภัต
- เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา คืองานออกพรรษา
- เดือนสิบสอง บุญกฐิน คือการทำบุญกฐิน
คองสิบสี่
ชาวจังหวัดอำนาจเจริญยังมีความคิดที่จะพื้นฟู ประเพณีลงข่วง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ประเพณีลงข่วง เป็นประเพณีที่ทำกันในบริเวณลานบ้าน ในช่วงจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยจะมีการชุมนุมระหว่างบ่าวสาว และฝ่ายหญิงจะมีกิจกรรม เช่น ดีดฝ้าย เข็นฝ้าย สาวไหม ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็จะมีการร่วมวงโดยมีการ"เล่นสาว" หรือ "เว้าสาว" โดยดีดพิณและเป่าแคนเป็นทำนองพื้นเมืองของชาวอีสาน พร้อมทั้งสนทนาเกี้ยวพาราสีกันด้วยภาษาเฉพาะที่เรียกว่า "ผญาเครือ" หรือ "ผญาเกี้ยว"
คองสิบสี่ คือการครองธรรมสิบสี่อย่าง คือ
- ฮีตเจ้าคองขุน คือการปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับขุนนาง
- ฮีตท้าวคองเพีย คือ การปฏิบัติระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่
- ฮีตไพร่คองนาย เป็นการปฏิบัติของราษฎรต่อนายของตน
- ฮีตบ้านคองเมือง คือกฎระเบียบของบ้านเมือง
- ฮีตปู่คองย่า
- ฮีตพ่อคองแม่
- ฮีตสะใภ้คองเขย
- ฮีตป้าคองลุง
- ฮีตลูกคองหลาน (จาก 5-9 เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติระหว่างคนในครอบครัว)
- ฮีตเฒ่าคองแก่ เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะต้องวางตนให้เป็นที่เคารพของลูกหลาน
- ฮีตปีคองฮีตเดือน หมายถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีใน 12 เดือน
- ฮีตไร่คองนา หมายถึงธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในการทำไร่ทำนา
- ฮีตวัดคองสงฆ์ เป็นหลักสำหรับบุคคลที่ต้องปฏิบัติต่อพระศาสนา
- ฮีตเจ้าคองเมือง เป็นแบบแผนสำหรับผู้ปกครอง
งานประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่
ผ้าลายขิด
การทำผ้าลายขิดเป็นการทำที่ต้องใช้ฝีมือ ซึ่งมีมาแต่สมัยโบราณ นิยมว่าเป็นของสูงใช้เป็นของฝากญาติผู้ใหญ่ ในโอกาสพิเศษ หรือถวายแด่พระภิกษุ ในสมัยก่อนไม่มีการซื้อขาย แต่ใน ปัจจุบันมีการจัดทำมากและมีคนนิยมมากขึ้น จนกลายเป็นสินค้าที่สำคัญของจังหวัดอำนาจเจริญ
วัสดุ
ผ้าทอลายขิด ทำจากเส้นใยฝ้าย ที่ได้จากต้นฝ้าย โดยการผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ หลายขั้นตอนแต่เนื่องจากปัจจุบันมีฝ้ายสำเร็จรูป จึงทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ผ้าทอลายขิด นิยมใช้สีสันต่างๆ เพิ่มลวดลายให้ดูสวยขึ้นจึงมีการย้อมสีใยฝ้าย นิยมทั้งย้อมจากสารเคมี และสีจากธรรมชาติ ได้แก่ จากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น
- เปลือกประดู่ ให้สีน้ำตาล
- เปลือกนุ่น ให้สีชมพู
- เปลือกมะม่วง ให้สีเขียว
- เปลือกลิ้นฟ้า ให้สีเขียว
- เปลือกลิ้นจี่ป่า ให้สีน้ำตาลแดง
- เปลือกบก ให้สีเทา
- เปลือกหว้า ให้สีม่วงเทา
- เครือโก่ย (ไม้เถาชนิดหนึ่งที่เกิดในภาคอีสาน) ให้สีน้ำตาล
- เหง้ากล้วย ให้สีเทา
- ต้นคราม ให้สีคราม
การย้อมสีฝ้าย จะมีวิธีการย้อมที่แตกต่างกันตามชนิดและส่วนของพืชที่นำมาใช้ในการย้อมสี
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า
มีกี่เป็นโครงสร้างใหญ่ของเครื่องมือในการทอผ้า ซึ่งจะมีอุปกรณ์ประกอบคือ ฟืม เขาหูก คานเหยียบไม้แกนม้วนผ้า (เรียกตามภาษาถิ่นอีสานว่า ไม้กำพั่น) ผัง ไม้แป้นกี่ (สำหรับคนนั่งทอผ้า) คานแขวน กงปั่นด้าย หลอดด้าย กระสวย และไม้เก็บขิด (เป็นไม้ที่มีลักษณะเรียวแบน ไม้นี้จะช่วยให้ได้ลายขิดตามต้องการ)
วิธีการทำ
การทอผ้าลายขิดจะใช้ไม้เก็บขิดงัดเส้นยืนขึ้นตามจำนวนที่ออกแบบลวดลายไว้ แล้วใช้กระสวยที่บรรจุหลอดด้าย สอดไปตามร่องของเส้นยืนตามไม้ขิดนั้น เสร็จแล้วใช้ฟืมกระทบอัดให้เนื้อผ้าแน่น เราสามารถสร้างลวดลายขิดต่างๆ ได้ตามใจชอบ
การประยุกต์ใช้
ผ้าทอลายขิดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง เช่น
1. หมอนขิด มีทั้งแบบรูปสี่เหลี่ยม หมอนสามเหลี่ยม ซึ่งจะใช้ลายขิดเฉพาะแบบสำหรับทำหมอนโดยเฉพาะ เพราะลายขิดถือเป็นของสูง จึงนิยมใช้ทำหมอน
2. ทำเบาะยัดนุ่นรองนั่ง
3. ทำเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ
4. เย็บเป็นกระเป๋า
5. ใช้ทำผ้าปูโต๊ะ
6. ทำผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง
7. บุผนังห้อง แสดงถึงความนิยมไทย
ผลิตภัณฑ์ของผ้าลายขิด
วัดพระเหลาเทพนิมิต
สถานที่ตั้ง บ้านพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
ประวัติความเป็นมา
เดิมชื่อวัดศรีโพธิ์ชยารามคามวดี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระเหลาเทพนิมิต" ตามชื่อของพระพุทธรูป เป็นองค์พระประธานประดิษฐานในอุโบสถวัดพระเทพนิมิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีลักษณะงดงามยิ่ง มีอายุกว่า 200 ปี ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเผาปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หอไตรปิฎก และพระพุทธรูปมากมายความสำคัญต่อชุมชน
1. เป็นสถานที่ศึกษาในท้องถิ่น
2. เป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของประชาชน
3. ในวันมาฆบูชาของทุกปีจะมีงานปิดทององค์พระเทพนิมิตจูงใจให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึง คุณพระรัตนตรัย
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
โบสถ์และพระพุทธรูปเป็นศิลปะแบบเวียงจันทน์
เส้นทางเข้าสู่วัดพระเหลาเทพนิมิต
จากจังหวัดอำนาจเจริญไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเส้นทางอำนาจเจริญ-พนา ห่างจากถนนชยางกูร 20 กิโลเมตร
วัดพระเหลาเทพนิมิต
พุทธอุทยาน
สถานที่ตั้ง บริเวณเขาดานพระบาท ถนนชยางกูร อำเภอเมืองอำนาจเจริญ
ประวัติความเป็นมา
พุทธอุทยานเป็นสถานที่ประดิษฐานพระมงคลมิ่งเมือง ซึ่งถือว่าเป็น พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำนาจเจริญและเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป ผู้เริ่มก่อสร้างพระมงคลมิ่งเมือง คือพระครูทัศนประกาศ (บุ จันทศิริ) เจ้าอาวาสวัดสำราญนิเวศ เมื่อ พ.ศ. 2503 และสำเร็จในปี พ.ศ. 2508 โดยมี พณฯ พลเอกประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เป็นประธานในการกระทำพิธีพุทธาภิเษก
ความสำคัญต่อชุมชน
1. เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอำนาจเจริญ
2. ในวันเพ็ญ เดือน 3 จะมีงานนมัสการพระมงคลมิ่งเมืองทุกปีลักษณะทางปฏิมากรรม
องค์พระมงคลมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย บุด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง สถาปนิกผู้ออกแบบองค์พระคือนายจิตร บัวบุศย์ ปรากฏได้รับอิทธิพลของศิลปะอินเดียเหนือหรือปาละเส้นทางเข้สู่พุทธอุทยานจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางอำนาจเจริญ -มุกดาหาร ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรวัด
พระศรีเจริญ
สถานที่ตั้ง หมู่ 6 บ้านหัวตะพาน ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ประวัติความเป็นมา
วัดพระศรีเจริญ ชื่อวัดนี้ตั้งตามชื่อของพระศรีเจริญ ซึ่งเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถ มีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 200 ปี เดิมชื่อว่า "วัดใน" ปัจจุบันเปิดเป็นสำนักเรียนปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลีและปริยัติธรรมสามัญ ม.1-ม.3
ความสำคัญต่อชุมชน
1. เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนในท้องถิ่น
2. เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเดือน 4 จะมีงานประจำปี ปิดทองพระเจ้าใหญ่พระศรีเจริญ มีผู้คนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ เพราะเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
เป็นสถาปัตยกรรมแบบเวียงจันทน์
เส้นทางเข้าสู่วัดศรีเจริญ
1. จากเส้นทางสายอำนาจเจริญ-น้ำปลีก-หัวตะพาน
2. เส้นทางบ้านขมิ้น-หัวตะพาน ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร
วัดถ้ำแสงเพชร
สถานที่ตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
ประวัติความเป็นมา
หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินธุดงค์มายังบริเวณถ้ำแสงเพชรและใช้ถ้ำเป็นที่พำนักวิปัสสนา เมื่อพ.ศ. 2511 ซึ่งถือว่าเป็นสาขาที่ 5 ของวัดหนองป่าพง มีความเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
ความสำคัญต่อชุมชน
เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
มีเจดีย์พุทธบูชา ศาลาพันห้อง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เส้นทางเข้าสู่วัดถ้ำแสงเพชรจากตัวอำเภอเมืองตามถนนอรุณประเสริฐ (อำนาจเจริญ-เขมราฐ) ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
วัดถ้ำแสงเพชร
วนอุทยานดอนเจ้าปู่
สถานที่ตั้ง ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
สิ่งดึงดูดใจ
เป็นป่าดงดิบ ประกอบด้วยป่าไม้เบญจพรรณนานาชนิดเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาพันธุ์ โดยเฉพาะมีลิงเป็นจำนวนมาก มีผู้คนมาแวะชมและให้อาหารลิงเป็นประจำมิได้ขาดเพราะเป็นลิงที่เชื่อง ไม่ทำอันตรายผู้มาเยี่ยมชม ชาวพนาได้ประกาศให้บริเวณนี้เป็นแดนอภัยทานสิ่งอำนวยความสะดวกในวนอุทยานดอนเจ้าปู่ มีถนนลาดยาง และรถโดยสารผ่าน ภายในบริเวณวนอุทยานมีศาลาพัก มีอาหารลิงวางขายสำหรับนักท่องเที่ยวเส้นทางเข้าสู่วนอุทยานดอนเจ้าปู่ จากตลาดสดไปตามถนนหน้าที่ว่าการอำเภอพนา ประมาณ 200 เมตร
สัญลักษณ์ของวนอุทยานดอนเจ้าปู่
วนอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
สถานที่ตั้ง อยู่บนรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเสนางคนิคม และอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ประมาณ 232 ตารางกิโลเมตร ที่ทำการอุทยานอยู่ในเขตอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
สิ่งดึงดูดใจ
เป็นภูเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ บางแห่งเป็นลานหิน ชาวท้องถิ่นเรียกว่า"ดาน" กระจายอยู่บนภูเขาอดีตเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)เขตงาน444 (อุบลเหนือ) วนอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว มีจุดเด่น คือ ภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นเดียวกับภาพเขียนสีโบราณที่ผาแต้ม ในจังหวัดอุบลราชธานี บนภูสระดอกบัวที่เป็นแอ่งหินมีดอกบัวหลากสี
สิ่งอำนวยความสะดวกในวนอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
มีบริการบ้านพัก ห้องประชุม มีสำนักงานป่าไม้ที่ดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
เส้นทางเข้าสู่วนอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
จากตัวอำเภอชานุมาน ไปตามเส้นทางสาย 2277 (อำเภอเลิงนกทา-ดอนตาล) ประมาณ32 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทาง อำนาจเจริญ-มุกดาหาร พอถึง อำเภอเลิงนกทาแล้วเลี้ยวขวาอีกประมาณ 15กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการวนอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
เที่ยวป่า ศึกษาธรรมชาติ เทือกภูเมืองเสนางคนิคม
สถานที่ตั้ง เทือกเขาสาขาของภูพานที่พาดผ่าน เขตอำเภอเสนางคนิคม
สิ่งดึงดูดใจ
- ภูโพนทอง เป็นภูเขาหินใหม่ที่มีหน้าตัดที่สูงชันมากอยู่ ห่างจากบ้านโพนทองไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๖ กิโลเมตรเหมาะสำหรับนักปีนเขาหรือนักผจญภัยที่ต้องการพิสูจน์ความยากลำบาก เขาลูกนี้มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้
- ดานมะเกลือ เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทัศนียภาพมากที่สุด มีลักษณะเป็นลานหินที่มีความสวยงาม มีต้นรังและต้นสามพันตาขึ้นอยู่ทั่วไป เคยเป็นที่ลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ของทางการในคราวสงครามต่อสู้ทางลัทธิ เป็นบริเวณที่เหมาะในการตั้งเต๊นท์ชมวิวและพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าตรู่ผาแอวขัน มีลักษณะเป็นชะง่อนหินยื่นออกมาเป็นเพิง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งวางซ้อนกันมองดูเด่นเป็นสง่า ผาแอวขันตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของภูโพนทอง
- ถ้ำคอกช้าง เป็นลักษณะโขดหินวางตั้งประสานกันเป็นหลังคา ปกคลุมด้วยต้นไม้และพันธ์ไม้เลื้อยนานาชนิด ด้านล่างเป็นทรายที่เกิดจากการผุพังของหิน เป็นที่หลบซ่อนและพักอาศัยของช้างป่าในสมัยก่อนที่ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยโคลนตมที่ช้างได้ถูไถติดผนังถ้ำ
- หมุดแผนที่ทหาร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเทือกภูบริเวณนี้ เป็นลานหินกว้างที่ตั้งอยู่บนยอดภูโพนทอง มีหมุดหลักฐานที่ทหารทำไว้ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
- ภูวัด ตั้งอยู่ทางตะวันตกของภูโพนทองและมีความสูงน้อยกว่า ชั้นบนของภูเป็นลาหินกว้างซึ่งมีอยู่หลายระดับ มีจุดที่น่าสนใจดังนี้
- หินตั้งหรือเสาเฉลียง มีลักษณะเป็นกลุ่มหินทรายที่ถูกกัดกร่อนจากน้ำฝนและแรงลม วางซ้อนตั้งเรียงรายอยู่ทางขึ้นภูวัด
- โสกฮัง เป็นแนวลาดของหินที่ถูกน้ำฝนกัดเซาะเป็นร่อง ๆ หรือโตรกธารอุดมไปด้วยต้นรังที่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ในช่วงปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาวจีดอกไม้ป่าจำนวนมากขึ้นแซมช่อสลับสีดูสวยงามมาก
- ดานเค็ง เป็นยอดสุดของภูวัด มีลักษณะเป็นลานหินกว้างมีดอกไม้หอมและพืชหลังเขานานาพันธ์ขึ้นสลับกันอย่างสวยงามโดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว รถยนต์สามารถขึ้นไปถึงได้เหมาะในการตั้งแคมป์ไฟ
- ศาลปู่เจ้าดงบังอี่หรือปู่อัครฮาด เป็นศาลพระภูมิเจ้าที่ดงบังอี่-ดงหัวกอง เป็นที่เคารพสักการะของคนที่เดินทางผ่านป่าแห่งนี้ โดยการนำดอกไม้-ใบไม้มากราบไหว้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการขอความคุ้มครอง จนกองท่วมเป็นเนินดินสูงชาวบ้านเรียกว่า"โพนดอกไม้บูชา"
เส้นทางเข้าแหล่งท่องเที่ยว
ใช้เส้นทางเดียวกันกับการเดินทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีตำบลโพนทอง เมื่อถึงทางแยกเข้าบ้านนาสะอาดให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ส่วนอีกเส้นทางโดยการแยกที่บ้านโป่งหิน ก็จะสามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวกเช่นกัน หรือจะใช้เส้นทางผ่านบ้านโพนทองตรงขึ้นหน้าภูโพนทองเลยก็ได้
หน้าผาหินตัด ภูโพนทอง
แก่งต่างหล่าง
สถานที่ตั้ง ริมแม่น้ำโขงที่หมู่บ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
สิ่งดึงดูดใจ
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีแหล่งน้ำ หาดทรายสวยงาม และมีร้านอาหารประเภทปลาจากลำน้ำโขงชนิดต่างๆ ให้เลือกรับประทานได้เส้นทางเข้าสู่แก่งต่างหล่าง จากตัวอำเภอชานุมานไปตามเส้นทางอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดมุกดาหาร ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร
แก่งต่างหล่าง
แก่งหินขัน
สถานที่ตั้ง กลางลำน้ำโขงบริเวณบ้านหินขัน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
สิ่งดึงดูดใจ
เป็นแก่งที่มีบริเวณกว้างแผ่ขยายออกไป ติดกับร่องน้ำใหญ่ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเป็นสถานที่มีอาหารประเภทปลาจากลำน้ำโขงจำนวนมากที่มีรสชาติอร่อยเส้นทางเข้าสู่แก่งหินขันจากที่ว่าการอำเภอชานุมาน ตามเส้นทางอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ถึงจังหวัดมุกดาหาร ไปทางทิศใต้ ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร
สุดเขตแดนสยาม
สถานที่ตั้ง หน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
สิ่งดึงดูดใจ
เป็นสถานที่ชมวิว ชมธรรมชาติของลำน้ำโขง ซึ่งสามารถมองเห็นเกาะแก่งและกระแสคลื่นของลำน้ำโขงซัดสาดกระทบจากฝั่งขวา ส่องประกายเป็นระลอกยาว
สิ่งอำนวยความสะดวกในสุดเขตแดนสยาม
มีศาลาชมวิว จำนวน 5 หลัง ภายในมีที่นั่งสะดวก สบาย
เส้นทางเข้าสู่สุดเขตแดนสยาม
หน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ป่าดงใหญ่
สถานที่ตั้ง ตำบลสร้างถ่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ประมาณ 32,250 ไร่
สิ่งดึงดูดใจ
เป็นสถานที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าไม้ชุมชนที่ราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า ทุกคนมีจิตสำนึกร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
- ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า (บริเวณศูนย์ศิลปาชีพ)
- สวนสัตว์เปิดเฉลิมพระเกียรติบ้านนาคูและหนองสีโว สามารถเดินชมทัศนียภาพและสัตว์ได้ มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
- ที่พักบริเวณหนองหาร หนองหารเป็นหนองน้ำขนาด 375 ไร่ มีน้ำใสสะอาด บริเวณโดยรอบเป็นป่าทึบ และมีลานกว้างบริเวณชายหนองน้ำ เหมาะสำหรับจัดเป็นที่พักแรมของนักท่องเที่ยว
สิ่งอำนวยความสะดวกในป่าดงใหญ่
- มีสถานที่จำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน อาหาร และเครื่องดื่ม
- บริการเช่าเต็นท์ที่พัก
- ให้การดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ผู้พักแรม
เส้นทางเข้าสู่ป่าดงใหญ่
มีเส้นทางหลายสายที่ไปถึงป่าดงใหญ่ คือจากตัวอำเภอหัวตะพานไปตามถนนสายหัวตะพาน -อำนาจเจริญ ระยะทาง ประมาณ 5 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณ 40 กิโลเมตร
รายการอ้างอิง
หัวข้อ |
หน่วยงาน |
เว็บไซต์ |
ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด คำขวัญประจำจังหวัด ต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัด
|
สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดย "บ้านเรา เมืองเรา" เชิดศักดิ์ วงศ์พิจิตร (รวบรวมและเรียบเรียง) |
www.ppr3.go.th/data/amnat.pdf
http://www.amnat-ed.go.th/web/index.php Side in : banponthong.amnat-ed.go.th/.../อำนาจเจริญ%20บ้านเฮา%20เมืองเฮา.pdf |
ประวัติ | จังหวัดอำนาจเจริญ ความเป็นมา | |
ข้อมูลทั่วไป ที่ตั้งและขนาดพื้นที่ อาณาเขต ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ จำนวนประชากร
|
สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดย "บ้านเรา เมืองเรา" เชิดศักดิ์ วงศ์พิจิตร (รวบรวมและเรียบเรียง) |
www.ppr3.go.th/data/amnat.pdf
http://www.amnat-ed.go.th/web/index.php Side in : banponthong.amnat-ed.go.th/.../อำนาจเจริญ%20บ้านเฮา%20เมืองเฮา.pdf
|
การปกครอง การแบ่งเขตการปกครอง
หัวหน้าส่วนราชการ
หน่วยงานบริหารราชการ |
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดย "บ้านเรา เมืองเรา" เชิดศักดิ์ วงศ์พิจิตร (รวบรวมและเรียบเรียง) สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ รายงานการประชุม 2/54 จาก สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดย "บ้านเรา เมืองเรา" เชิดศักดิ์ วงศ์พิจิตร (รวบรวมและเรียบเรียง) |
http://www.amnat-ed.go.th/web/index.php Side in : banponthong.amnat-ed.go.th/.../อำนาจเจริญ%20บ้านเฮา%20เมืองเฮา.pdf
http://www.amnatcharoen.go.th/new/
http://www.amnatcharoen.go.th/new/index.php?option=com_content&view=article&id=124:-254&catid=53:53&Itemid=94
www.ppr3.go.th/data/amnat.pdf
http://www.amnat-ed.go.th/web/index.php Side in : banponthong.amnat-ed.go.th/.../อำนาจเจริญ%20บ้านเฮา%20เมืองเฮา.pdf |
การเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา |
สำนักงานคณะกรรมาการการเลือกตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ
|
http://www2.ect.go.th/about.php?Province=amnatcharoen&SiteMenuID=3959 http://www2.ect.go.th/about.php?Province=amnatcharoen&SiteMenuID=3960 |
ข้อมูลทางเศรษฐกิจ | (สถิติพื้นฐานที่เป็นอนุกรมเวลา) สถิติประชากร ลูกจ้าง การว่างงาน สาเหตุการตาย | |
สภาพทางสังคม ศาสนา ประเพณี สถานสำคัญและแหล่งท่องเทียว |
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดย "บ้านเรา เมืองเรา" เชิดศักดิ์ วงศ์พิจิตร (รวบรวมและเรียบเรียง) |
http://www.amnat-ed.go.th/web/index.php Side in : banponthong.amnat-ed.go.th/.../อำนาจเจริญ%20บ้านเฮา%20เมืองเฮา.pdf |
รายการอ้างอิงรูปภาพ
ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
http://www.amnatcharoen.go.th/data/content/logo.h1.jpg
ดอกไม้และต้นไม้ประจำจังหวัดอำนาจเจริญ
ต้นตะเคียนหิน
web.cpss.in.th
panmai.com
ดอกจานเหลือง
skyscrapercity.com
ที่ตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d4/Thailand_Amnat_Charoen.png
อาณาเขตติดต่อของจังหวัดอำนาจเจริญ
http://www.camptour.net/Destination-guide/Destination-guide-North-East/Amnat- Charoen/Images/map.gif
อำเภอในจังหวัดอำนาจเจริญ
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/59/Amphoe_Amnat_Charoen.png
งานประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่
gotoknow.org
ผลิตภัณฑ์ของผ้าลายขิด
thaiunique.wordpress.com
วัดพระเหลาเทพนิมิต
myfirstbrain.com
วัดถ้ำแสงเพชร
สัญลักษณ์ของวนอุทยานดอนเจ้าปู่
watisan.com
หน้าผาหินตัด ภูโพนทอง
travel.edtguide.com
แก่งต่างหล่าง
visit2thai.com
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดย "บ้านเรา เมืองเรา" เชิดศักดิ์ วงศ์พิจิตร (รวบรวมและเรียบเรียง)
http://www.amnat-ed.go.th/web/index.php Side in : banponthong.amnat-ed.go.th/.../อำนาจเจริญ%20บ้านเฮา%20เมืองเฮา.pdf